วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

4 นิสัยทางการเงินที่เด็กไทยควรปรับเปลี่ยน


1. ไม่ประหยัด เพราะ "ความจำเป็น" และ "ความต้องการ" นั้นต่างกัน การใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งที่น้องๆต้องการ แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนั้น จะทำให้เงินค่าขนมที่ได้รับจากคุณพ่อ คุณแม่นั้นไหลออกจากกระเป๋าโดยไม่รู้ตัว เด็กที่บริหารเงินเป็นจะรู้ว่าไหนสิ่งที่จำเป็นก่อน และถ้ามีเงินเหลือเก็บเพียงพอจึงค่อยใช้เงินเพื่อซื้อสิ่งของที่น้องๆต้องการได้เป็นครั้งคราว
2. พึ่งพาพ่อแม่มากเกินไป สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากประเทศตะวันตกที่มักจะให้ลูกพึ่งพาตัวเองและทำงานตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะที่เด็กไทยส่วนใหญ่มักจะพึ่งพาพ่อแม่ตั้งแต่เล็กจนโต ถ้าน้องๆรู้ตัวว่ายังมีนิสัยเงินไม่ประหยัด ต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ เมื่อเรียนจบ มีงานทำแล้ว น้องๆจะได้ไม่ลำบาก ให้ลองหางานพิเศษ เพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆตั้งแต่ตอนเรียน นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของที่บ้านแล้ว น้องๆยังจะได้ประสบการณ์ในการทำงานก่อนเด็กคนอื่นๆด้วย
3. ไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เด็กๆหลายคนละเลยที่จะใส่ใจกับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพราะบางคนอาจได้ค่าขนมเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ แต่น้องๆรู้ไหมว่า การจดบันทึกข้อมูลการใช้เงินจะทำให้น้องๆสามารถประเมินสถานะทางการเงินของตัวเองได้ เราจะรู้ว่าแต่ละวัน เราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง สิ่งไหนที่จำเป็น และสิ่งไหนที่ควรประหยัด นอกจากนี้น้องยังสามารถใช้ข้อมูลทางการเงินนี้ในการวางแผนเก็บเงินซื้อของที่อยากได้ได้อีกด้วย ถ้าน้องๆทำบัญชีจ่าย น้องๆจะบริหารเงินได้ดีขึ้นแน่นอน
4. ไม่ประเมินตัวเอง น้องๆที่ยังอยู่ในวัยเรียนมักจะ ติดนิสัยใช้เงินตามเพื่อนในกลุ่ม เพราะเพื่อนคือกลุ่มคนที่มีนิสัยหรือความชอบที่คล้ายคลึงกัน เช่น ไลฟ์สไตล์ การแต่งตัว การเลือกซื้อเสื้อผ้า ประเภทของหนังที่ชอบดู เพลงที่ฟัง หรือแม้แต่การเลือกร้านขนม หรือร้านอาหาร ตามแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายได้ ซึ่งถึงแม้ความชอบจะเหมือนกัน แต่สถานะทางการเงินของทุกคนไม่เท่ากัน หากน้องๆมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเหมือนเพื่อนที่มีฐานะทางการเงินดีกว่า น้องๆจะต้องรู้จักประเมินตัวเอง ใช้จ่ายให้พอดีกับเงินค่าขนมที่น้องๆได้มา

แหล่งอ้างอิง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น